ทีมนักวิจัยกะละแม ม.นครพนม จับมือผู้ประกอบการร้านอาหารรังสรรค์เมนูพิเศษจากกะละแมโบราณ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ้งลาวัลย์ เอี่ยมกุศลกิจ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประกันคุณภาพการศึกษา เป็นประธาน กิจกรรมการพัฒนาเมนูอาหารและเครื่องดื่มกะละแมโบราณนครพนม เพื่อต่อยอดการพัฒนาเมนูอาหารและเครื่องดื่มกะละแมนครพนม โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คมศักดิ์ หารไชย อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการและการจัดการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนากรอบการวิจัย การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการตลอดสายโซ่ผลิตภัณฑ์กะละแมโบราณนครพนม ด้วยกลไกขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าใหม่บนฐานทุนทรัพยากรพื้นถิ่น (ปีที่ 2) นำเสนอกิจกรรม ณ Posh Café & Bistro ซอยประชาสุขสันต์ ถ.กลางเมือง ต.หนองแสง อ.เมือง จ.นครพนม
การพัฒนาเมนูอาหารและเครื่องดื่มกะละแมโบราณ เป็นกิจกรรมภายใต้กรอบการวิจัย “การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการตลอดสายโซ่ผลิตภัณฑ์กะละแมโบราณนครพนม ด้วยกลไกขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าใหม่บนฐานทุนทรัพยากรพื้นถิ่น ปีที่ 2” โดยเป็นความร่วมมือระหว่างทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยนครพนม ภายใต้แบรนด์ “กะละแมโบราณ” ร่วมกับ ตุ๊กตากะละแมโบราณ และ Posh Café & Bistro เพื่อพัฒนาต่อยอดเมนูอาหารและเครื่องดื่มจากกะละแม จำนวน 4 เมนู ได้แก่ กะละแมนมนัว นมกะละแมปั่น โรตีกะละแม และเค้กโรลกะละแม ซึ่งให้คณะกรรมการร่วมชิมรสชาติจากส่วนผสมที่ทำจากกะละแม พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะในการพัฒนารสชาติและต่อยอดไปเป็นเมนูอื่น ๆ ได้อีกต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ้งลาวัลย์ เอี่ยมกุศลกิจ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณทีมนักวิจัยในการเข้ามาพัฒนากระบวนการต่าง ๆ ได้แบบครบวงจรตั้งแต่ ต้นน้ำ (การปลูก) กลางน้ำ (กระบวนการผลิต) และ ปลายน้ำ (การจัดจำหน่าย) โดยงานวิจัยชิ้นนี้สามารถเป็นผลงานโดดเด่นของจังหวัดได้ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับพื้นที่ (SDGs) ทำให้ประชาชนมีโอกาสขยายและยกระดับมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ซึ่งในนามมหาวิทยาลัยนครพนมขอบคุณทุกคนในจังหวัด ที่ร่วมสนับสนุนผลิตภัณฑ์ “กะละแม” ซึ่งเป็นสินค้าจากชุมชนท้องถิ่น
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คมศักดิ์ หารไชย เปิดเผยว่า โครงการวิจัย “การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการตลอดสายโซ่ผลิตภัณฑ์กะละแมโบราณนครพนม ด้วยกลไกขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าใหม่บนฐานทุนทรัพยากรพื้นถิ่น ปีที่ 2” เป็นการพัฒนาความสามารถของผู้ประกอบการให้เป็นไปตามความถนัด และ DNA ย่อยของแต่ละแบรนด์ย่อย (ซึ่งอยู่ในกลยุทธ์ที่ 2 ที่ว่าด้วยเรื่อง Entrepreneurship) โดยการพัฒนาผู้ประกอบการในกลยุทธ์ที่ 2 นี้ มีการพัฒนาแบรนด์ย่อย จำนวน 3 แบรนด์ ได้แก่ กะละแมทูลใจ (มีความเด่นในเรื่องของ Innovation) ตุ๊กตากะละแมโบราณ ร่วมมือกับร้าน Posh Café & Bistro (มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเนื้อกะละแมที่เป็นส่วนผสมในเมนูต่าง ๆ) และกะละแมครูน้อย (มีความถนัดในด้านของการเป็นศูนย์การเรียนรู้) ซึ่งทั้ง 3 แบรนด์ อยู่ภายใต้แบรนด์ใหญ่ คือ “กะละแมโบราณนครพนม” ซึ่งมีหัวใจ และ DNA ร่วมกัน ในการสืบสานต่อยอด เชิดชู สวีท และเสน่ห์อันเป็นตำนานของนครพนม เพราะการทำกะละแมช่วยส่งเสริมให้คนในชุมชนมีรายได้ทุกระดับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คมศักดิ์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า กิจกรรม “การพัฒนาเมนูอาหารและเครื่องดื่มกะละแมโบราณ” เป็นการพัฒนาความสามารถผู้ประกอบการให้เป็นไปตามความถนัด และ DNA ย่อยของแต่ละแบรนด์ย่อย เพื่อพัฒนาแนวทางให้ตุ๊กตากะละแมโบราณ สามารถนำกะละแมโบราณนครพนม ไปรังสรรค์เมนูแบบพิเศษและเมนูที่แปลกใหม่ด้วยสูตรเฉพาะของร้านนั้น ๆ ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการรับรู้และเชิดชูให้ “กะละแม” เป็นสินค้าที่ต้องห้ามพลาดของนครพนม และเป็นสินค้าของฝากสำคัญของประเทศ ซึ่งการพัฒนาที่ผ่านมาใน Entrepreneurship ได้รับการอนุเคราะห์จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครพนม และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม ที่ให้ความกรุณาในการจัดกิจกรรมอื่น ๆ ส่งเสริมความร่วมมือ ทำให้งานวิจัยมหาวิทยาลัยนครพนม ดำเนินการได้อย่างง่ายในหลายกิจกรรม
นางสาวกฤษฎิ์ฐิตา ชนะมี ผู้จัดการร้าน Posh Café & Bistro กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางร้านพยายามที่จะนำของดีของขึ้นชื่อนครพนมมาปรับพัฒนาเป็นสินค้าให้กับลูกค้าที่มาท่องเที่ยวนครพนม ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบอาหาร หรือของฝากต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าที่มาใช้บริการเกิดความประทับใจ จนกระทั่งได้เจอกับทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยนครพนม จึงได้แนวคิดใหม่ในการต่อยอดเมนูเพิ่มเติมจากทางร้าน ร่วมวางแผน พูดคุย ทดลองกันหลายครั้ง สุดท้ายตกผลึกเป็น 4 เมนูใหม่นำร่อง นั่นก็คือ กะละแมนมนัว นมกะละแมปั่น โรตีกะละแม และเค้กโรลกะละแม ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น โดยทั้ง 4 เมนูนี้ มีระดับความหวานให้ลูกค้าได้เลือก และยังสามารถรับประทานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำการทดลองกับลูกค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปรากฏว่าได้เสียงตอบรับที่ดี อีกทั้งยังได้รับคำชมจากลูกค้าด้วย
นอกจากกิจกรรมการพัฒนาเมนูอาหารและเครื่องดื่มกะละแมโบราณ มหาวิทยาลัยนครพนม โดยทีมนักวิจัยยังได้ร่วมกับจังหวัด จัดกิจกรรม “พาสายมูดูกะละแมโบราณนครพนม ตามรอยขนมแห่งศรัทธาสู่มรกดภูมิปัญญาแห่งเมืองธาตุพนม” ภายใต้โครงการการส่งเสริมและพัฒนาต่อยอดมรดกภูมิปัญญาอาหารถิ่นจังหวัดนครพนม ประจำปีงบประมาณ 2568 เพื่อส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ชุมชน ในวันที่ 15 มกราคม 2568 นี้ด้วย