ทุบหม้อข้าวชาวบ้าน เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ สั่งราษฎรชาวบ้านรวมไทย รื้อสะพานจุดชมวิวปางอุ๋ง จุดที่ผวจ.ไปทำการโปรโมทการท่องเที่ยวเมื่อสัปดาห์ก่อน ผวจ.กำลังหาทางออกในเรื่องดังกล่าวแล้ว

Uncategorized

ทุบหม้อข้าวชาวบ้าน

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ สั่งราษฎรชาวบ้านรวมไทย รื้อสะพานจุดชมวิวปางอุ๋ง จุดที่ผวจ.ไปทำการโปรโมทการท่องเที่ยวเมื่อสัปดาห์ก่อน ผวจ.กำลังหาทางออกในเรื่องดังกล่าวแล้ว

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 นายภานุเดช ไชยสกูล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากราษฎรบ้านรวมไทย ต.หมอกจำแป่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ว่าเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ ที่ประจำอยู่ในหมู่บ้านรวมไทย หรือบ้านปางอุ๋ง ได้สั่งให้ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวในหมู่บ้าน ทำการรื้อถอนสะพานที่ทอดยื่นไปในน้ำ ที่ได้มีการสร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อให้นักท่องเที่ยว เช็คอินน์และถ่ายรูปบนสะพานดังกล่าว

ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นที่น่าเสียดาย และน่าเห็นใจชาวบ้านที่ร่วมด้วยช่วยกันสร้าง ที่มีความตั้งใจ ที่จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเป็นทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่มีอยู่ในพื้นที่และสำคัญมีชื่อเสียงระดับประเทศมานานมากแล้วสำหรับปางอุ๋ง หน่วยงานที่เป็นเจ้าของสถานที่ ควรส่งเสริม สนับสนุน ในทางที่ถูกต้อง และที่ไม่เป็นการทำให้เกิดความเสียหาย และการสร้างสะพานยื่นเข้าไปในน้ำนี้ ผมมองว่า ไม่มีผลกระทบหรือความเสียหายใดๆ กับหน่วยงานที่เป็นเจ้าของ บางสถานการณ์ หรือบางกรณี จะใช้หลักกฎหมายมาบังคับใช้ทั้งหมดเลยก็ไม่ได้ครับ โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยว ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวของ จ.แม่ฮ่องสอน ร้อยละ 90 เป็นแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ที่มีหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานของรัฐที่ดูแลรับผิดชอบ แต่ต้องมองว่า การท่องเที่ยวคือรายได้หลักของประเทศ และของชุมชน ไม่มีชุมชนใดที่จะทำลายหม้อข้าวตนเอง ที่ทำสะพานแห่งนี้ขึ้น ก็เพื่อให้ เรามีอาหาร มีข้าวในหม้อนี้ตลอดไป และยั่งยืนดูงดูด นทท. เข้ามาท่องเที่ยว

เดิมทีจุดดังกล่าว เป็นสะพานไม้ไผ่ที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูป แต่ปีนี้ใช้ฐานเป็นเหล็กและปูนแล้วนำไม้ไผ่มาสานทับด้านบนหรือรอบเสาให้ดูเป็นธรรมชาติ ที่ทำเพราะต้องการให้สะพาน มีความมั่นคง ทนทานแข็งแรงเวลานักท่องเที่ยว ขึ้นไปถ่ายรูปจะสามารถรับน้ำหนักคนจำนนมากได้ รวมไปถึงช่วยเซฟ ความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว

ทั้งจุดสะพานทำขึ้นที่เดิมแต่มีการยื่นออกไปทางด้านขวานิดเดียวเพื่อจะได้มุมถ่ายรูปที่สวย
ถ้าถ่ายรูปมุมตรงกับสะพานเก่านี่ไม่มีใครรู้หรอกค่ะว่าเป็นปางอุ๋งถ้าไม่มีป้ายบอก เห็นแต่มุมป่ารกๆ

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าว ทางหน่วยงานรัฐหลายหน่วยในพื้นที่ ได้มีการนำเรียนให้แก่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้รับทราบแล้ว และได้มีการนัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน , ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแม่ฮ่องสอน , อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน , อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ และ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ณ ศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อหาทางออกในเรื่องดังกล่าว

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวปางอุ๋ง ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานเปิด โครงการพัฒนา ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมทางการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอนกิจกรรม การพัฒนาโฮมสเตย์และโฮมลอดจ์ บนเส้นทางการท่องเที่ยว 21 จุด ของสายต่อนยอนต้องมาเช็คอินจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมี นายกรวิทย์ ช่วยดู ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่าที่ ร้อยตรี ภานุวัฒน์ ขัดนาค ผอ.ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน พ.ต.ท.สุวิทย์ บุญยะเพ็ญ สว.สทท.4 กก.2 บก.ทท.2(แม่ฮ่องสอน) และนาย ภานุเดช ไชยสกูล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน เข้าร่วมกิจกรรม ณ อาคารทรงงาน โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ทั้งนี้เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพในเชิงนิเวศ วิถีวัฒนธรรม แก้ไขปัญหาความยากจน พัฒนาคน สังคม บนฐานวัฒนธรรม เกิดกระจายรายได้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้เกิดเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชน เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนสร้างเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน

นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า โครงการพัฒนา ฟื้นฟู แหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมทางการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นโอกาสอันดี ที่ชุมชนบ้านรวมไทยจะได้ร่วมกันวางแผนรองรับการพัฒนา และป้องกันผลกระทบทั้งด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการพัฒนาและหาโอกาสที่จะให้ชุมชนได้เรียนรู้จากปัญหา ทางแก้ไขปัญหา และความสำเร็จ ของรูปแบบการบริหารจัดการของชุมชนอื่นๆ อยู่เสมอ เพื่อการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน ในขณะที่เราพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนไปนั้น ชุมชนอื่นๆ ทั้งใกล้และไกล ต่างก็พากันหาหนทางในการพัฒนาตนเองเช่นกัน โดยการอนุรักษ์เพื่อหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของคนในชุมชน ในรูปแบบของแหล่งหาอาหาร แหล่งการเรียนรู้ แหล่งสืบสานประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ และแหล่งหารายได้จากการท่องเที่ยว จึงต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน หรือชุมชนอื่นๆ ที่มีลักษณะบางอย่างใกล้เคียงกันมาร่วมกันคิดเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทักษะ การเรียนรู้ระหว่างกัน
—————————————–
ทศพล / แม่ฮ่องสอน 0850309987