🔴「พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หารือทวิภาคีโปรตุเกส -เยือนเรือนจํากลางกรุงลิสบอน อายุ 151 ปี จัดเป็นเรือนจำฟื้นฟูยาเสพติด」
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงยุติธรรมว่า วันที่ 20 มิถุนายน 2567 เวลา 12.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต สมาชิกวุฒิสภา พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นางสาวสุภาพรรณ เตียพิริยะกิจ อัครราชทูตที่ปรึกษา ณ กรุงลิสบอน และคณะ ได้เดินทางไปยังเรือนจํากลางกรุงลิสบอน (Lisbon Prison) เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปการบริหารงานในเรือนจำ และระบบจัดการนักโทษ โดยมีคุณโรมูโล มาเธอุส ผู้อำนวยการฝ่ายการบริการเรือนจำและการฟื้นฟูทางสังคม (Mr. Romulo Mateus, Directorate of Prison Services and Social Rehabilitation) ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งได้ให้ข้อมูลสภาพทั่วไปของเรือนจำว่า เรือนจำกลางกรุงลิสบอน สร้างขึ้นเมื่อปี 1873 โดยปัจจุบันมีอายุกว่า 151 ปี แล้ว สำหรับผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศมี 80 แห่ง ผู้ต้องขังรวมจำนวน 11,280 คน ซึ่งส่วนมากเป็นความผิดฐานค้ายาเสพติด ฉ้อโกง และลักทรัพย์ตามลำดับ
ได้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการบำบัดผู้ต้องราชทัณฑ์ในเรือนจำ ซึ่งมีการดำเนินการมากว่า 31 ปีแล้ว โดยในเบื้องต้นจะรับบำบัดทั้งผู้ติดยาเสพติดและผู้ติดแอลกอฮอล์ โดยผู้เข้ารับการบำบัดต้องเซ็นสัญญาและข้อตกลง อาทิ ไม่แอบใช้สารเสพติด และจะอยู่ในระเบียบวินัย เป็นต้น จากนั้นผู้ต้องราชทัณฑ์จะเข้าสู่โมเดลบำบัด ซึ่งใช้เวลา 18 เดือน โดยแบ่งเป็น 1) การปรับตัว 7 เดือน 2) การรับผิดชอบตัวเอง 5 เดือน 3) การใช้ชีวิตและอบรมต่าง ๆ 3 เดือน 4) การกลับเข้าสู่สังคม 3 เดือน นอกจากนั้น ยังมีกระบวนการในการฝึกวินัยและพัฒนาพฤตินิสัยควบคู่กันไปอีกด้วย ได้เข้าดูสภาการบำบัดจริงในเรือนจำ ห้องพักที่อยู่ห้องละ 3 คน เน้นการรักษาความสะอาดทั้งห้องนอน ห้องน้ำ สถานที่กิจกรรมประจำวันต้องรักษาความสะอาด และมีทีมสหวิชาชีพให้คำปรึกษาประชุมติดตามพฤติกรรมของผู้ถูกบำบัดเป็นรายบุคคลเป็นประจำตลอดโปรแกรม 1 ปี 6 เดือน
สุดท้ายนี้ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวขอบคุณ ผู้อำนวยการฯ และคณะที่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ พร้อมทั้งขอนำโปรตุเกสโมเดลมาศึกษาและประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะทำให้กระบวนการบำบัดผู้ต้องขังที่ติดยาเสพติดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป