รองโฆษก ศอ.บต. แถลงผลการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและสถานการณ์ความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้

Uncategorized

รองโฆษก ศอ.บต. แถลงผลการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและสถานการณ์ความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้


วันนี้ (26 ธันวาคม 2567) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุม วอร์รูม ชั้น 2 ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า อำเภอเมือง จังหวัดยะลา นายธีรวิทย์ เฑียรฆโรจน์ รองโฆษกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมด้วย พันเอก ปองพล สุทธิเบจกุล รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และ พันตำรวจเอก อนุพงษ์ ทัศนา หัวหน้างานกฎหมายและสอบสวน กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมแถลงข่าว 3 ฝ่าย ในการชี้แจงการปฏิบัติงานในห้วงเดือนที่ผ่านมา

นายธีรวิทย์ เฑียรฆโรจน์ รองโฆษก ศอ.บต. กล่าวว่า ในห้วงที่ผ่านมา ศูนย์อำนวยบริการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย หลังนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ ศอ.บต. เป็นศูนย์ประสานช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ศอ.บต. ได้เข้าช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล โดยมีมาตรการสำคัญดังนี้ 1. การช่วยเหลือในภาวะวิกฤต โดย ศอ.บต. มีสายด่วน 1880 เปิดรับเรื่องร้องทุกข์ตลอด 24 ชั่วโมง เพิ่มคู่สายและเจ้าหน้าที่เพื่อตอบสนองประชาชนในช่วงน้ำท่วม และได้ประสานงานขอความช่วยเหลือ สนับสนุนเครื่องจักร เรือท้องแบน เจ็ทสกี และเครื่องสูบน้ำ และสนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภครวมทั้งตั้งโรงครัวชุมชน รวมถึง โรงครัวพระราชทาน จากมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภา) ยามยาก สภากาชาดไทย

2. ข้อมูลความเสียหาย พื้นที่ประสบภัยมีจำนวน 54 อำเภอ 386 ตำบล 2,602 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ: 1,783,072 คน จาก 585,378 ครัวเรือน เสียชีวิต: 27 ราย ผลกระทบต่อเกษตรกรรม ด้านพืช: 471,917 ไร่ เกษตรกร 197,302 ราย ด้านประมง 5,048 ไร่ เกษตรกร 9,033 ราย และ ด้านปศุสัตว์ สัตว์เสียหาย 3,213,035 ตัว

3. การฟื้นฟูหลังน้ำลด
ศอ.บต. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ ร่วมซ่อมแซมทรัพย์สิน เปิด Fix It Center ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อซ่อมแซมรถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักรกลทางการเกษตร ได้ทำความสะอาดชุมชน สนับสนุนอุปกรณ์และทีมงานช่วยเหลือพื้นที่สาธารณะ เช่น วัด มัสยิด และโรงเรียน และ สนับสนุนปัจจัยยังชีพ ร่วมกับ 27 องค์กรแจกจ่ายสิ่งของและวัสดุช่วยเหลือประชาชน โดยเป้าหมายสำคัญคือการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อบรรเทาทุกข์และฟื้นฟูชีวิตประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด

 

ด้านพันเอก ปองพล สุทธิเบจกุล รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้สรุปข่าวสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) สถานการณ์ความรุนแรง ตุลาคม-ธันวาคม 2567 เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง 33 เหตุการณ์ ยิง 13 ครั้ง ระเบิด 16 ครั้ง วางเพลิง 4 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 9 ราย (เจ้าหน้าที่ 5 ราย, ผู้นำท้องถิ่น 1 ราย, ประชาชน 2 ราย) ผู้บาดเจ็บ 41 ราย (เจ้าหน้าที่ 38 ราย, ประชาชน 3 ราย) โดย กอ.รมน.ภาค 4 สน.ได้ บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งปฏิบัติการสำคัญ จับกุมผู้ต้องสงสัย 4 รายที่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรงและระเบิดในพื้นที่ ตรวจยึดวัตถุพยานสำคัญ เช่น จักรยานยนต์พ่วงข้าง, อุปกรณ์ระเบิด, และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้มาตรการรักษาความปลอดภัยเทศกาลปีใหม่ 2568 เปิดแผนปฏิบัติการรักษาความปลอดภัย โดย จัดตั้งจุดตรวจ-จุดบริการประชาชน ดูแลพื้นที่จัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง, สถานที่ท่องเที่ยว, และเขตเศรษฐกิจสำคัญ เน้นการอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยให้ประชาชน การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ค้นหาผู้ป่วยยาเสพติดเพิ่มเติม 17 ราย และส่งบำบัดฟื้นฟู ส่งผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวเข้าสู่ระบบบำบัด 19 ราย
ด้าน ส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม จัดพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานในวัด 4 แห่ง รวมยอดปัจจัยร่วมทำบุญ 3,318,323 บาท และเตรียมสนับสนุนกิจกรรมเทศกาลตรุษจีนในเดือน ม.ค. 2568

ด้าน พันตำรวจเอก อนุพงษ์ ทัศนา หัวหน้างานกฎหมายและสอบสวน กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า สำหรับสถิติการเกิดเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ อำเภอของจังหวัดสงขลา ประจำเดือนธันวาคม 2567 เกิดเหตุขึ้นในพื้นที่จำนวน 28 เหตุ แบ่งเป็นเหตุก่อความรุนแรง 8 เหตุ เหตุอาชญากรรม 13 เหตุ และเหตุก่อกวน 7 เหตุ จากเหตุก่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น มีผู้เสียชีวิต 2 ราย แยกเป็น ทหาร 1 นายและประชาชน 1 รายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 14 ราย แยกเป็น ตำรวจ 4 นาย ทหาร 1 นายและประชาชน 9 ราย ได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับ ป.วิอาญา กับผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุก่อความรุนแรงที่เกิดเหตุในพื้นที่ จำนวน 3 หมาย จับกุม 3 หมาย รวมจำหน่ายรวมหมายค้างเก่า 8 หมายและออกหมายจับตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จำนวน 1 หมาย จับกุม 1 หมาย รวมจำหน่ายหมาย 1 หมาย มีผลคำพิพากษาคดีความมั่นคง ของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีการวมกัน 8 คดี จำเลย 11 ราย จำคุกตลอดชีวิต 2 ราย ลงโทษจำคุกไม่เกิน 50 ปี 9 ราย มีคดีความมั่นคงที่มีความคืบหน้าและน่าสนใจ 1 เหตุ ลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 446 เหตุเกิดสะพานตันหยง ถนนสาย 42 หมู่ 2 ตำบลมะนังยง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจตระเวนชายแดนได้รับบาดเจ็บ 5 นาย รถยนต์บรรทุกของทางราชการได้รับความเสียหายนั้นพบว่าระเบิดที่นำมาใช้ในการก่อเหตุเป็นระเบิดแสวงเครื่องประกอบจักรยานยนต์ที่ได้มีการแจ้งไว้ในท้องที่สถานีตำราจภูธรปะนาเระ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2567 และจากการสืบสวนขยายผลพบว่ารถจักรยานยนต์คันที่คนร้ายขับมารับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์คันประกอบระเบิดมีตำหนิรูปพรรณเหมือนกับรถจักรยานยนต์ที่คนร้ายที่ใช้ก่อเหตุลอบวางระเบิด 3 จุดถนนทางเข้าท่าเทียบเรือประมงปัตตานี เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 นอกจากนี้ในวันเกิดเหตุยังพบชายวัยรุ่นขับขี่รถจักรยานยนต์ต้องสงสัยมีพฤติการณ์น่าสงสัย เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายควบคุมตัวเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย เบื้องต้นให้การยอมรับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุในคดีนี้ ทั้งยังให้การซัดทอดถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับ ซึ่งถือว่าทางคดีมีความคืบหน้าไปแล้วพอสมคาร 2. เหตุซิงทรัพย์เป็นเงินของร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น สาขาปาลัส บริเวณหน้าธนาคารกสิกรไทย สาขาปาลัส หมู่ 5 ตำบลลางา อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 คดีนี้ในวันเกิดเหตุพนักงานร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น สาขาปาลัสได้นำเงินสดของร้านจำนวน 1,217,104 บาท ไปฝากยังธนาคารธนาคารกสิกรไทย เมื่อขับขี่รถจักรยานยนต์มาจอดบริเวณหน้าธนาคารและกำลังจะหยิบเงินที่เก็บไว้ใต้เบาะรถเพื่อนำไปฝาก ได้มีคนร้าย จำนวน 2 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์มาจอดประกบแล้วคนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายได้ลงจากรถใช้อาวุธปืนข่มขู่ให้พนักงานส่งมอบเงินโดยหลังจากได้เงินแล้วคนร้ายก็ได้พากันหลบหนี ไปจากการสืบสวนขยายผลพบว่ารถจักรยานยนต์ที่คนร้ายนำมาใช้ก่อเหตุมีตำหนิรูปพรรณเหมือนกับรถจักรยานยนต์ที่ใช้รับคนร้ายในเหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 และทางการสืบสวนยังพบผู้ต้องสงสัยขับขี่รถจักรยานยนต์ 1 คัน เจ้าหน้าที่ได้มีการขยายผลพิสูจน์ทราบจนรู้ตัวบุคคลจึงได้เข้าปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายพบว่าบุคคลดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกลุ่มขบวนการและให้การยอมรับว่าเกี่ยวกับเหตุก่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่หลายเหตุการณ์รวมถึงคดีนี้ด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจนว่าเหตุชิงทรัพย์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุอาชญากรรมทั่วไป หรือเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อความรุนแรงในพื้นที่และจะได้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับและติดตามจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินคดีต่อไป และเดือนนี้มีคำพิพากษาคดีความมั่นคงหลายคดี ที่น่าสนใจ 1. เหตุลอบวางระเบิดใต้ท้องรถยนต์ เหตุเกิด บ้านเลขที่ 1/1 หมู่ 3 ตำบลถนน อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2566 คดีนี้ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาให้ลงโทษ จำคุก 35 ปี 72 เดือน 1 ราย 2. เหตุลอบวางเพลิงโรงโม่หินธนบดีศิลา เหตุเกิด หมู่ 4 ตำบลลิดล อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 ศาลจังหวัดยะลา มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 8 ปี 25 เดือน 1 ราย 3. เหตุลอบวางระเบิดร้านทอง โจมตีจุดตรวจ ฐานปฏิบัติการ และลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้ารวม 7 จุด ในพื้นที่อำเภอตากใบ และอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2566 ศาลจังหวัดนราธิวาส พิพากษาลงโทษจำคุก 33 ปี 4 เดือน 1 ราย 4. เหตุเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุรุนแรงตามหมายจับบริเวณบ้านเลขที่ 31/2 หมู่ 7 ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัดปัตตานี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2562 ศาลฎีกา มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี 20 เดือน 1 ราย และจำคุก 4 ปี 8 เดือน 1 ราย 5. เหตุลอบวางระเบิดแสวงเครื่องแบบเหยียบ เหตุเกิดทางรถไฟใกล้สะพานเหล็กบ้านน้ำเค็ม หมู่ 8 ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 3 – 4กุมภาพันธ์ 2565 ศาลจังหวัดนาทวี พิพากษาลงโทษจำคุก 43 ปี 4 เดือน 1 ราย 6. เหตุยิงเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดนชุดคุ้มครองตำบลพร่อน เสียชีวิต 2 นาย เหตุเกิด หมู่ 5 ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาส พิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิต 2 ราย