“พิพัฒน์” รมว.แรงงาน รับหนังสือลูกจ้าง “ยานภัณฑ์” หลังถูกเลิกจ้างไม่ได้ค่าชดเชย สั่งช่วยเต็มที่ เตรียมเชิญนายจ้างมาชี้แจง

Uncategorized

“พิพัฒน์” รมว.แรงงาน รับหนังสือลูกจ้าง “ยานภัณฑ์” หลังถูกเลิกจ้างไม่ได้ค่าชดเชย
สั่งช่วยเต็มที่ เตรียมเชิญนายจ้างมาชี้แจง
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – –

วันที่ 23 ธันวาคม 2567 เวลา 12.00 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รับหนังสือจากนายวีระศักดิ์ ลุพา ประธานสหภาพแรงงานยานภัณฑ์ และตัวแทนลูกจ้าง

บริษัท ยานภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ประมาณ 200 คน ขอให้กระทรวงแรงงานดำเนินการช่วยเหลือกรณีที่ถูกเลิกจ้างและไม่ได้รับค่าชดเชย โดยมี นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรือเอก สาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และนางสาวกาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดี กสร. ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่
ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ บริเวณลานด้านหน้าประตู 3 กระทรวงแรงงาน และห้องประชุมคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ชั้น 1


นายพิพัฒน์ เปิดเผยถึงกรณีที่บริษัทยานภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) จังหวัดสมุทรปราการ มีหนังสือเลิกจ้างลูกจ้าง จำนวน 859 คน เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา และไม่จ่ายค่าชดเชย ว่า ผมรับทราบถึง
ความเดือดร้อนของลูกจ้าง และยินดีให้ความช่วยเหลือลูกจ้างอย่างเต็มที่ โดยขอให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง
และยังไม่ได้รับค่าชดเชยมายื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน (คร.7) เพื่อให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป และเพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างด้วย ทั้งนี้ ขอให้ลูกจ้างไม่ต้องกังวลเพราะผมจะคอยกระตุ้นให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเร่งดำเนินการ
ด้วยความรวดเร็ว พร้อมทั้งจะประสานกับทางนายจ้างเพื่อให้เข้ามาหารือร่วมกันและชี้แจงถึงสถานการณ์
ที่เกิดขึ้นที่กระทรวงแรงงานอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ผมได้สั่งการให้กรมการจัดหางาน ดูแลลูกจ้างที่ว่างงาน
โดยการ Matching งานให้กับทุกคน และให้สำนักงานประกันสังคมดูแลสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างในเรื่องประกันการว่างงาน
เรือเอก สาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทยานภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือเลิกจ้างลูกจ้าง จำนวน 859 คน ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 โดยให้มีผลทันที โดยนายจ้างได้มีหนังสือตกลงในการจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แบ่งเป็น 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 นัดจ่ายในวันที่ 20 ธันวาคม 2567 ที่ 70% สำหรับครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 จะจ่ายในวันที่ 27 ธันวาคม 2567 และ 27 มกราคม 2568 ที่ 20% และ 10 % ตามลำดับ แต่เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา นายจ้างผิดนัด
ไม่ได้มีการจ่ายค่าชดเชยครั้งที่ 1 ตามที่ตกลงกับลูกจ้างไว้ ทำให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนจึงเป็นสาเหตุ
ในการมายื่นหนังสือในวันนี้ ทั้งนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะติดตามให้ลูกจ้างยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานให้ครบถ้วน และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่จัดเตรียมความพร้อมและอำนวยความสะดวกในการนำลูกจ้างไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนต่อไป