พิพัฒน์’ พบทูตไทย อาสาสมัครแรงงาน ณ กรุงโตเกียว หารือเพิ่มการจ้างงานคนไทยในญี่ปุ่น

Uncategorized

พิพัฒน์’ พบทูตไทย อาสาสมัครแรงงาน ณ กรุงโตเกียว หารือเพิ่มการจ้างงานคนไทยในญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 เวลา 11.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เรือเอก สาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และผู้บริหารกระทรวงแรงงานเข้าพบหารือข้อราชการกับนายวิชชุ เวชชาชีวะ เอกอัครราชทูต และร่วมมอบประกาศเกียรติคุณฯ แก่อาสาสมัครแรงงานดีเด่น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีภารกิจหลักหนึ่งในการส่งเสริมการมีงานทำ รวมถึงขยายตลาดแรงงานในต่างประเทศ เพื่อให้คนไทยมีโอกาสมีงานทำในต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีรายได้ที่เหมาะสม ในวันนี้ได้มาพบท่านเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว เพื่อหารือแลกเปลี่ยนนโยบายกระทรวงแรงงาน ได้แก่ การเป็นส่วนหนึ่งและให้การสนับสนุนทีมประเทศไทย การขยายตลาดแรงงานไทยในประเทศญี่ปุ่นเชิงรุก การจัดงาน MOL Overseas Matching ที่สถานทูตฯ ให้องค์กรผู้ส่งไทย พบ องค์กรผู้รับญี่ปุ่น รวมทั้งได้หารือร่วมกันการจัดทดสอบมาตราฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ พร้อมกับการจัดอบรมวิชาชีพให้กับแรงงานไทยในประเทศญี่ปุ่น อย่างเช่น นวดไทย มวยไทย หรือ งานบริบาล เพื่อในการป้องกันให้งานเอกลักษณ์เฉพาะทางนี้เป็นของแรงงานไทย และจะทำให้สามารถขยายฐานการทำงานของแรงงานไทยได้

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า มีอาสาสมัครแรงงานในต่างประเทศญี่ปุ่น ที่สนับสนุนการทำงานของสำนักงานแรงงาน ซึ่งวันนี้ทางกระทรวงแรงงาน มีการจัดพิธีมอบประกาศเกียรติคุณและเข็มเชิดชูเกียรติแก่อาสาสมัครแรงงานดีเด่น 2567 โดยขอแสดงความยินดีกับคุณ มาลี วาดะ ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ พร้อมได้ให้เวลารับฟังปัญหาต่างๆ และความต้องการของอาสาสมัครแรงงาน ที่สะท้อนการชีวิตในการดูแรงงานไทยในประเทศญี่ปุ่น

“ขณะนี้แรงงานไทยทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นอยู่ประมาณกว่า 35,000 คน ได้รับค่าแรงเริ่มต้นประมาณ 9,000 เยน ( กว่า 2,000 บาท) ต่อวัน ซึ่งมีความความต้องการให้กระทรวงแรงงานพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อรองรับตลาดแรงงานได้มากขึ้น มีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ซึ่งงานนวดไทย และงานในอุตสาหกรรมอาหาร งานบริบาลผู้สูงอายุ ที่ยังขาดแคลนสามารถรับแรงงานต่างชาติได้อีกหลายอัตรา รวมทั้งขอให้มีการอบรมด้านภาษาญี่ปุ่นพื้นฐาน เพราะเป็นสิ่งจำเป็นในการทำงานอาสาสมัครแรงงานที่ประเทศญี่ปุ่น” นายพิพัฒน์ กล่าวเสริม