น่าน Kick off เดินรณรงค์ยุติความรุนแรง พร้อมทั้งประกาศเจตนารมณ์ ต่อต้านการกระทำความรุนแรง ต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวจังหวัดน่าน
น่าน Kick off เดินรณรงค์ยุติความรุนแรง พร้อมทั้งประกาศเจตนารมณ์ ต่อต้านการกระทำความรุนแรง ต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวจังหวัดน่าน
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เวลา 17.30 น. นายบรรจง ขุนเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานในพิธีเปิดงาน“รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” จังหวัดน่าน ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “สร้างสุขปลอดภัย ไร้ความรุนแรง” (ACT NOW to end Violence Against Women and Girls) โดยมีนางปิยะนาถ พูนพิพัฒน์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดน่าน เป็นผู้กล่าวรายงาน โดยมี สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิฯ เครือข่าย อพม.เครือข่ายสตรี , เครือข่ายรักษ์ไทย , กลุ่มชาติพันธุ์ , นักเรียนโรงเรียนสตรีศรีน่าน และทีมงาน พม.หนึ่งเดียวน่าน และประชาชนในพื้นที่จังหวัดน่าน กว่า 500 คน ได้ร่วมกัน Kick off เดินรณรงค์ยุติความรุนแรง พร้อมทั้งประกาศเจตนารมณ์ ต่อต้านการกระทำความรุนแรง ต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวจังหวัดน่าน ประจำปี 2567 ณ บริเวณ ข่วงเมืองน่าน ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
ตามที่ กระทรวง พม. ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล โดยให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประเด็นปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) และมีความพยายามผลักดันนโยบายและมาตรการหลายด้าน เพื่อปกป้อง คุ้มครอง คนทุกเพศ ทุกวัย และขจัดปัญหาความรุนแรงในทุกรูปแบบ ซึ่ง พม. ได้มีการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบาย 5 * 5 ฝ่าวิกฤตประชากร จากความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ซึ่งนโยบายดังกล่าวประกอบด้วย 5 ข้อเสนอ 5 มาตรการ ได้แก่ 1 เสริมพลังผู้สูงอายุ 2 เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน 3 สร้างพลังผู้สูงอายุ 4 เพิ่มโอกาสและเสริมสร้างคุณค่าคนพิการ และ 5 สร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัย เสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ ทั่วถึง เป็นธรรม
กระทรวง พม. มีศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ศรส. ทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ โดยเริ่มตั้งแต่การรับแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือหากเกิดความรุนแรงในครอบครัว การเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย การวางแผน การดำเนินงานช่วยเหลือ ประสานงานให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือคุ้มครอง โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวและผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นสำคัญ
ด้านนางปิยะนาถ พูนพิพัฒน์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดน่าน กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดน่าน ปัญหาความรุนแรง ต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เป็นปัญหาที่ส่งกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ซึ่งในปี 2567 จังหวัดน่าน มีเหตุการณ์ความรุนแรง ทั้งสิ้น 61 ราย เป็นลำดับที่ 8 ของประเทศ ทั้งนี้ จากข้อมูลดังกล่าวพบว่าความสัมพันธ์ของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุด คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง สามีภรรยา จำนวน 38 ราย คิดเป็นร้อยละ 62.29 รองลงมาได้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตร จำนวน 15 ราย คิดเป็นร้อยละ 24.59 ซึ่งสาเหตุหรือปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรง อันดับหนึ่ง คือ ยาเสพติด รองลงมาคือ บันดาลโทสะ ความรู้สึกเชิงอำนาจ การหึงหวง ปัญหาสุขภาพจิต หรือความเครียดทางเศรษฐกิจ ก็ล้วนเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งผู้ที่กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นเพศชาย สถานะเป็นสามี หรือเป็นพ่อ
สำหรับช่องทางการติดต่อขอรับความช่วยเหลือกรณีถูกกระทำความรุนแรง หรือพบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว หากพบเห็นหรือถูกกระทำความรุนแรงขออย่านิ่งเฉย สามารถแจ้งมาได้ที่ ศรส. โทร 1300 โทรฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง หรือระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม ESS Help Me ผ่านแอปพลิเคชันไลน์แจ้งเหตุเชื่อมโยงกับสถานีตำรวจตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวทั้ง 77 จังหวัด ทั่วประเทศ/บุญยงค์ สดสอาด นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดน่าน รายงาน