ม.นครพนม จับมือ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าจีน เตรียมผลิตบุคลากรป้อนตลาดอุตสาหกรรม

Uncategorized

ม.นครพนม จับมือ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าจีน เตรียมผลิตบุคลากรป้อนตลาดอุตสาหกรรม

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 เวลา 15.30 น. ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม พร้อมคณะผู้บริหาร และคณาจารย์ฝ่ายอาชีวศึกษา ให้การต้อนรับ ดร.จักรพันธ์ อภินันท์ธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพรเมซี่ ซัพพลาย จำกัด และ นางสาวกรกนก ปิงวัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อันดามัน ซี ซัน ทราเวล จำกัด ในโอกาสเข้าหารือความร่วมมือด้านการผลิตบุคลากรสู่ตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ณ ห้องประชุมกลุ่มย่อยออนไลน์ ชั้น 1 อาคารเทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยนครพนม (เขตพื้นที่ดิจิทัล)

ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ทั้ง 2 บริษัท เป็นผู้แทนของ บริษัท BYD จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของจีน (เอกชน) มีความสนใจที่จะทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนครพนม ในการผลิตบุคลากรเข้าสู่ตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ปัจจุบันมีฐานการผลิตของโรงงานในประเทศไทย โดยการหารือครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นตรงกันถึงความร่วมมือ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักศึกษาที่กำลังจะเข้าศึกษาใหม่ในมหาวิทยาลัยนครพนม ระดับ ปวช. และ ปวส. เป็นหลักสูตรใหม่ทำร่วมกันกับ บริษัท BYD จำกัด, กลุ่มนักศึกษาที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยนครพนม เป็นการศึกษาในหลักสูตรระยะสั้นเพื่อพัฒนาทักษะ (Upskill) ตามความสมัครใจของผู้เรียนที่สนใจทำงานด้านธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า และ กลุ่มที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว อยากยกระดับพัฒนาองค์ความรู้ (Reskill) เพื่อนำไปต่อยอดการทำงานด้านธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งภายหลังการหารือเสร็จสิ้น มหาวิทยาลัยนครพนมจะมีการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ บริษัท BYD จำกัด ก่อนเปิดทำการเรียนการสอนในหลักสูตรใหม่ ที่คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม (เขตพื้นที่พนมบุรินทร์)

ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากความร่วมมือกับ บริษัท BYD จำกัด ปัจจุบันมหาวิทยาลัยนครพนมยังทำความร่วมมือ กับ บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของจีน (รัฐบาล) ถือเป็นความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ (คณาจารย์) และพัฒนาบุคลากร (นักศึกษา) สู่ตลาดอุตสาหกรรมด้านธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากยานยนต์ไฟฟ้าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย และขาดแคลนบุคลากรค่อนข้างสูง ซึ่งการขาดแคลนในส่วนนี้ทำให้การเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้ามีอัตราการทำงานค่อนข้างสูงเช่นกัน อีกทั้ง ยังเป็นนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการพัฒนาร่วมกันระหว่างภาคเอกชน ภาคราชการ หรือ มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

หากความร่วมมือบรรลุวัตถุประสงค์ นักศึกษามหาวิทยาลัยนครพนม หรือนักศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน สามารถมีงานทำแน่นอน เพราะการศึกษาในระดับ ปวช. มหาวิทยาลัยนครพนมเปิดโอกาสให้เรียนฟรีอยู่แล้ว ส่วนระดับ ปวส. ค่าเล่าเรียนการศึกษาถูกมาก อยากเชิญชวนนักเรียน นักศึกษา ในพื้นที่อีสานตอนบนที่มีความสนใจทางด้านยานยนต์ไฟฟ้า สามารถสมัครเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยนครพนมที่พร้อมเปิดโอกาสให้กับทุกคน ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย กล่าว////////

พัฒน์เตอร์ ภาพข่าว
สุเทพ หันจรัส ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดนครพนม รายงาน