ว.ธาตุพนม พัฒนานวัตกรรม “ตู้อบลมร้อนไล่ความชื้นและเตาแก๊สชีวมวล” ส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าบ้านพิมาน อ.นาแก จ.นครพนม

Uncategorized

ว.ธาตุพนม พัฒนานวัตกรรม “ตู้อบลมร้อนไล่ความชื้นและเตาแก๊สชีวมวล”
ส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าบ้านพิมาน อ.นาแก จ.นครพนมช

วันที่ 23 กันยายน 2567 เวลา 09.00 น. อาจารย์และนักศึกษา สาขาวิศวกรรมพลังงาน วิทยาลัยธาตุพนม มหาวิทยาลัยนครพนม มอบตู้อบลมร้อนไล่ความชื้นและเตาแก๊สชีวมวล ให้กับกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านพิมาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและการแปรรูปผ้า โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กัญลยา มิขะมา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา เป็นประธานมอบ ณ บ้านพิมาน ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม

“ตู้อบลมร้อนไล่ความชื้น” เป็นนวัตกรรมการพัฒนางานวิจัยของคณาจารย์และนักศึกษา สาขาวิศวกรรมพลังงาน วิทยาลัยธาตุพนม ซึ่งมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หฤษฎ์ คล่องดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ณรงค์ฤทธิ์ อุปพงษ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปรัชพงศ์ นับถือตรง และ อาจารย์ศรายุทธ เมาฬี ร่วมกับกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านพิมาน เพื่อตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาและข้อจำกัดกระบวนการผลิตในช่วงฤดูฝน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หฤษฎ์ คล่องดี อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมพลังงาน หัวหน้างานวิจัยดังกล่าว บอกว่า บ้านพิมานเป็นชุมชนที่มีเอกลักษณ์ มีการตัดเย็บเสื้อผ้าเป็นอาชีพ ก่อนหน้านี้มักประสบปัญหาในช่วงฤดูฝน ที่ต้องอาศัยแสงแดดในกระบวนการผลิต เช่น การย้อม การซัก และการรีด ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าผ้าจะแห้งสนิท จึงจะสามารถจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าได้ ทำให้การผลิตและความต้องการของตลาดไม่สอดคล้องกัน จึงพัฒนาตู้อบลมร้อนไล่ความชื้นขึ้นมา เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าของชุมชนบ้านพิมาน

“ด้ายของชาวบ้านจะเปียกชื้น ใช้เวลานานกว่าด้ายจะแห้ง ประมาณ 7-10 วัน นอกจากเรื่องด้ายยังมีเรื่องของผ้าที่ชาวบ้านมีการซัก ซึ่งต้องนำมาอบเนื่องจากในช่วงหน้าฝน หรือว่าช่วงที่ชาวบ้านทำตอนเย็น ไม่สามารถทำให้ผ้าแห้งได้ ทางทีมนักวิจัยจึงได้เข้ามาช่วยในเรื่องของอุปกรณ์ตัวนี้ เพื่อให้ชาวบ้านได้ย่นระยะเวลาของการผลิต”

นางพักสุดา วงค์ตาพรม ประธานกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า “ไทพิมาน” กล่าวว่า จากการทดลองใช้ตู้อบลมร้อนไล่ความชื้น สามารถแก้ปัญหาให้ทางกลุ่มได้เป็นอย่างดี ลดต้นทุนที่เป็นรายจ่ายพลังงานไฟฟ้าได้มาก จากปกติ 3,000 บาท เหลือเพียง 900 บาทต่อเดือน

“หากลูกค้าสั่ง 2-3 ผืน เราซักรีดตากมันสบายมาก แต่ถ้าเขาสั่งมา 100 ผืน แล้วพรุ่งนี้ต้องส่ง ทางกลุ่มเราจะมีปัญหา เพราะต้องหมักไว้ 1 คืน ตื่นมาเราค่อยมาตาก แล้วถ้ามีฝนตกลงมาแบบนี้ผ้าก็จะไม่แห้ง การีดก็สิ้นเปลือง รีด 1 ผืน กว่าจะแห้ง ใช้เวลาทั้งวันก็ไม่เสร็จถ้าสั่ง 100 ผืน แต่พอมาใช้ตู้อบตัวนี้ ครึ่งวันก็แห้งแล้ว เรารีดนิดหน่อยเพิ่มเติมก็เรียบ สามารถพับส่งลูกค้าทัน”

นอกจากจะช่วยย่นระยะเวลาการผลิตให้กับกลุ่มสมาชิก คุณสมบัติของตู้อบนี้ยังสามารถใช้อบกลิ่นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ได้ด้วย เช่น ใช้ในการอบกลิ่นยางนา อบสมุนไพรพื้นบ้าน เป็นต้น รวมถึงยังสามารถใช้ในการอบวัสดุจำพวกเครื่องจักสานได้ดีอีกด้วย

ส่วน “เตาแก๊สชีวมวล” เป็นอีกหนึ่งงานวิจัย ถูกพัฒนามาจากเตาอั้งโล่ทั่วไป ที่กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านพิมาน ใช้ในการต้มน้ำเพื่อย้อมสีผ้า ซึ่งเตานี้ใช้หลักการที่เรียกว่า แก๊สซิไฟเออร์ (การเผาแบบไร้อากาศ) ใช้อากาศให้น้อยที่สุด เผาเพื่อจะให้แก๊สจากไม้ออกมา โดยในเตามีการเจาะรูไว้ เมื่อแก๊สจากไม้ออกมาก็จะเป็นการเผาอีกรอบหมุนเวียนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งช่วยควบคุมอุณหภูมิความร้อนได้ดี ร้อนเร็ว แถมยังคงสถานะความร้อนอยู่ได้นาน และที่สำคัญยังควบคุมระดับความแรงของพลังงานเชื้อเพลิงได้ ช่วยลดเวลาและต้นทุนของการผลิตอีกทางหนึ่ง

ส่วนการพัฒนาต่อยอดให้การใช้งานคล่องตัวกับกลุ่มสมาชิกตัดเย็บเสื้อผ้า คือ การทำให้เตาแก๊สชีวมวลมีขนาดเล็กลง สามารถใส่ในล้อพ่วง (ซาเล้ง) เพื่อง่ายต่อการเคลื่อนที่เวลาที่ชุมชนนำไปสาธิตให้แก่ผู้มาศึกษาดูงานในพื้นที่ชุมชน

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กัญลยา มิขะมา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยนครพนม ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานแหล่งทุนงบประมาณ กับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในโครงการคูปองวิทย์เพื่อโอทอป 2567 กล่าวว่า เป็นงานวิจัยที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งของคณาจารย์และนักศึกษาที่ร่วมกันพัฒนาต่อยอด เป็นการพัฒนาอีกก้าวในด้านนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยนครพนม ที่ชุมชนสามารถนำไปใช้ได้จริงในการเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ เป็นการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ พัฒนาศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชน////////สุเทพ  หันจรัส