น่าน ชาวอำเภอเวียงสาร่วมใส่บาตรเทียน สืบสานประเพณีใส่บาตรเทียน ซึ่งถือเป็นประเพณีที่มีแห่งเดียวในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.00 น. ที่วัดบุญยืนพระอารมหลวง (ในอดีตชื่อเวียงป้อ) ตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน คณะสงฆ์นำโดยพระศรีวชิรเวที พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนชาวอำเภอเวียงสา นำโดยนายนพพร เรืองสว่าง นายอำเภอเวียงสา นำพุทธศาสนิกชน คณะศรัทธาวัดบุญยืนพระอารามหลวง และนักท่องเที่ยว พร้อมใจกันร่วมงานบุญประเพณีใส่บาตรเทียน หนึ่งเดียวในโลก ที่จะจัดขึ้นหลังจากวันเข้าพรรษา 1 วัน ซึ่งตรงกับวันแรม 2 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี โดยในปีนี้ตรงวันที่ 22 ก.ค. 2567
สำหรับประเพณีใส่บาตรเทียนจะจัดขึ้นหลังวันเข้าพรรษา 1 วัน โดยจะจัดพิธีสูมาคารวะหรือพิธีขอขมาแก่เจ้าคณะอำเภอและพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ในขณะที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายต่างก็ถือเอาวันเดียวกันนี้ นำเทียนและดอกไม้มาถวายแก่พระภิกษุ สามเณร เพื่อให้พระสงฆ์ในวัดได้นำเทียนกลับไปจุดบูชาองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า และได้จุดศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัยในยามค่ำคืน ประเพณีใส่บาตรเทียน ถือเป็นประเพณีที่มีแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งอยู่คู่กับชาวอำเภอเวียงสามาเป็นเวลาช้านาน เพราะเป็นประเพณีที่มีทั้งฝ่ายพระสงฆ์ และคฤหัสถ์ใส่บาตรร่วมกันโดยนำดอกไม้และเทียนมาใส่บาตร โดยถือเป็นประเพณีสำคัญที่คณะสงฆ์และคณะศรัทธาประชาชนชาวเวียงสาได้ปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน แม้ไม่ปรากฏชัดว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2344 หลังจากเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ สร้างวัดบุญยืนได้ 1 ปี เมื่อ พ.ศ. 2343 โดยในยุคเริ่มต้นถือเป็นประเพณีที่ทำเฉพาะวัดบุญยืน และจนถึงปัจจุบันก็มีเพียงวัดเดียวในจังหวัดน่านที่สืบสานประเพณีนี้อย่างเหนียวแน่น อาจจะมีแห่งเดียวในเมืองไทยหรือในโลกก็ว่าได้ รวมทั้งแม้ว่าสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปมีไฟฟ้าใช้ แต่ชาวบ้านก็มิได้ละทิ้งให้ประเพณีที่สืบทอดมายาวนานเสื่อมถอย กลับช่วยกันฟื้นฟูสืบทอดให้แก่ลูกหลานสืบไป
โดยพิธีจะเริ่มจากพุทธศาสนิกชนจะนำเทียน ดอกไม้ น้ำส้มป่อย น้ำอบ น้ำหอม มาใส่ลงในภาชนะที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ภายในพระอุโบสถแล้วฆราวาสก็จะพร้อมใจกันนำอาหารมาถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุ สามเณร หลังพระฉันเรียบร้อยแล้วชาวบ้านจะร่วมกันรับประทานอาหารกลางวัน จากนั้นในช่วงของพิธีใส่บาตรเทียนจะเริ่มเวลา 13.00 น . โดยพระภิกษุ สามเณรจะกระทำทำพิธีสูมาคารวะ พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ร่วมด้วยพระกรรมฐานและพระอาจารย์ผู้สอนกรรมฐานรวมถึงการขอขมาแก่เจ้าคณะอำเภอและพระเถระชันผู้ใหญ่ผู้มีอายุ มากกาลตามลำดับ จากนั้นพระภิกษุ สามเณรจะเดินออกมาจากโบสถ์นำเทียนมาใส่ในบาตรที่ตั้งอยู่บนโต๊ะยาวหน้าโบสถ์ เมื่อพระภิกษุ สามเณร ใส่บาตรจนเสร็จสิ้น จากนั้นเหล่าพุทธศาสนิกชนก็จะนำเทียนและดอกไม้ที่เตรียมมาเดินใส่บาตรเทียนกันเป็นแถวยาวด้วยใบหน้าอิ่มเอิบเปี่ยมด้วยศรัทธา โดยชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมตักบาตรจำนวน 99 เล่มตามความเชื่อในเรื่องของเลขมงคล จากนั้นกระบวนการสุดท้ายพระภิกษุ สามเณรจะแบ่งเทียนและดอกไม้นำห่อด้วยผ้าสบงนำกลับวัดของตนเอง เพื่อนำไปจุดบูชาพระรัตนตรัยหรือเก็บไว้เป็นมงคลถือเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี/บุญยงค์ สดสอาด นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดน่าน รายงาน