วันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ที่ร้านยาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 2 พิษณุโลก นำสื่อมวลชนและทีมเยาวชนจากมูลนิธิเอ็มพลัส พิษณุโลก ลงพื้นที่ ร้านยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เยี่ยมชมการจัดบริการร้านยาที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิวิถีใหม่ ตามนโยบายเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ (Common Illnesses) และสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค (P&P) เพื่อให้บริการกับประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท และสิทธิอื่นๆ พร้อมกับประชุมหารือแนวทางการพัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์ เพิ่มการเข้าถึงบริการหน่วยบริการปฐมภูมิวิถีใหม่
ทพ.สันติ ศิริวัฒนไพศาล ผู้อำนวยการเขต สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 2 พิษณุโลก กล่าวว่า สปสช. ได้ร่วมกับสภาเภสัชกรรมขยายการให้บริการบัตรทอง 30 บาท ที่ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” เพื่อดูแลประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท ในกรณีที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ (Common Illness) และบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค สำหรับคนไทยทุกสิทธิการรักษาพยาบาล โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนเข้าถึงยา การดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีคุณภาพและมาตรฐานภายใต้วิชาชีพเภสัชกรรม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่ต้องเดินทางไปรับบริการที่โรงพยาบาล ช่วยลดแออัดที่โรงพยาบาลได้ ภายหลังจากดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 มีร้านยา ในพื้นที่เขต 2 พิษณุโลก 5 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ตาก สุโขทัย และอุตรดิตถ์ เข้าร่วมโครงการ จำนวน 85 แห่ง แบ่งเป็น โครงการร้านยาบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ จำนวน 55 แห่ง และ ให้บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค จำนวน 64 แห่ง
ทพ.สันติ กล่าวต่อว่า จังหวัดพิษณุโลก มีร้านยาเข้าร่วมโครงการ จำนวน 40 แห่ง แบ่งเป็นร้านยาให้บริการผู้มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ จำนวน 27 แห่ง และร้านยาให้บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค จำนวน 30 แห่ง จากข้อมูลในระบบของ สปสช. มีประชาชนเข้ารับบริการสะสม (ปีงบประมาณ 2566 – 2567) ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก แบ่งเป็นการรับบริการกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ จำนวนทั้งสิ้น 39,596 ครั้ง กลุ่มอาการที่ร้านยาได้ให้บริการ มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ไข้ ไอ เจ็บคอ จำนวน 22,259 ครั้ง 2. ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ จำนวน 8,182 ครั้ง 3. ผื่นผิวหนัง จำนวน 4,913 ครั้ง 4. ปวดท้อง จำนวน 2,892 ครั้ง 5. ความผิดปกติของดวงตา จำนวน 2,246 ครั้ง
ส่วนการรับบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่ร้านยา ภาพรวม 5 จังหวัดนั้น มีผู้รับบริการทั้งสิ้น 2,746 ครั้ง ซึ่งถือว่ามีจำนวนไม่มาก เป็นการให้บริการยาเม็ดคุมกำเนิดและบริการให้คำปรึกษา จำนวน 1,792 ครั้ง บริการจ่ายถุงยางอนามัยและบริการให้คำปรึกษา จำนวน 721 ครั้ง บริการคัดกรองและประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพกาย/สุขภาพจิต 90 ครั้ง บริการตรวจปัสสาวะทดสอบการตั้งครรภ์ จำนวน 90 ครั้ง บริการยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินและให้คำปรึกษา 51 ครั้ง
“ขอเชิญชวนผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท รับบริการทั้งกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ และบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เรียกว่า บริการปฐมภูมิวิถีใหม่ ตั้งอยู่ในชุมชน มีความสะดวกในการเดินทาง เข้าถึงบริการได้ง่าย เภสัชกรประจำร้านยาจะเป็นผู้สอบถามและวินิจฉัยอาการ ผู้ป่วยมีโอกาสสอบถามพูดคุยได้นานกว่าการไปที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ที่ครอบคลุมสิทธิการรักษาพยาบาลอื่น นอกจากสิทธิบัตรทอง 30 บาทด้วย” ผู้อำนวยการเขต สปสช.เขต 2 พิษณุโลก กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับภาวะเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ ให้บริการสำหรับผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท ได้แก่ อาการปวดหัว เวียนหัว ปวดข้อ เจ็บกล้ามเนื้อ ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ถ่ายปัสสาวะขัด ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเจ็บ ตกขาวผิดปกติ อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน บาดแผล ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา และความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู
ส่วนบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ให้บริการสำหรับผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท และสิทธิอื่น 6 รายการ ได้แก่ 1) บริการยาเม็ดคุมกำเนิดแก่หญิงไทยวัยเจริญพันธุ์ 2. บริการยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินและบริการ ให้คำปรึกษา 3) บริการจ่ายถุงยางอนามัย แก่ประชาชนไทยวัยเจริญพันธุ์ และให้คำปรึกษาการคุมกำเนิด/วางแผนครอบครัว 4) บริการชุดทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง 5) บริการยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิก 6) บริการคัดกรองและประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพกาย/สุขภาพจิต ขึ้นอยู่กับร้านยาจะให้บริการรายการใดบ้าง บางแห่งอาจมีไม่ครบทั้ง 6 รายการ
ทั้งนี้ การเข้ารับบริการให้สังเกตสติ๊กเกอร์ “ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย” หรือ “ร้านยาของฉันให้บริการสร้างเสริมสุขภาพ” ที่หน้าร้าน หรือสอบถามผ่านสายด่วน สปสช. 1330 หลังจากนั้นเมื่อผู้ป่วยมาที่ร้านยา แสดงบัตรประชาชนด้วยทุกครั้ง เภสัชกรจะตรวจสอบสิทธิผู้ป่วย ซักประวัติ คัดกรองอาการเบื้องต้น ให้คำปรึกษา แนะนำการใช้ยา จ่ายยาตามอาการ และติดตามอาการของผู้ป่วยในวันที่ 3 ของการจ่ายยา หากอาการดีขึ้นก็จะสิ้นสุดการดูแล กรณีอาการแย่ลงหรือมีการเปลี่ยนแปลงก็จะแนะนำให้ไปรักษาที่สถานพยาบาลประจำตามสิทธิของผู้ป่วยเพื่อเข้าสู่การรักษาต่อไป//////เสรี ทองคู่