พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชูกระทรวงยุติธรรม อำนวยความสะดวกคนไทยในต่างแดน เดินหน้ารับรองเอกสารสำคัญ ได้โดยไม่ต้องผ่านสถานทูต 」

Uncategorized

🔴「 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชูกระทรวงยุติธรรม อำนวยความสะดวกคนไทยในต่างแดน เดินหน้ารับรองเอกสารสำคัญ ได้โดยไม่ต้องผ่านสถานทูต 」

 

(16 กรกฎาคม 2567) ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ ว่า วานนี้ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมปลดล็อกขั้นตอนการรับรองเอกสารสำคัญของคนไทยในต่างประเทศ ใช้ระบบ “วันสต็อปเซอร์วิส” อำนวยความสะดวกให้ หลังไทยเข้าเป็นสมาชิกที่ประชุมกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกบุคคล อาทิ การส่งเอกสารคดีแพ่งระหว่างศาลต่อศาล ได้โดยไม่ต้องผ่านสถานทูต

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมของคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการ ภายหลังประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกที่ประชุมกรุงเฮก ว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกบุคคล (Hague Conference on Private Internationnal Law :HCCH) โดย การประชุมคณะกรรมการดังกล่าวนี้ นับเป็นครั้งที่ 1/2567 มีผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกรรมการ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ ศาสตราจารย์พิเศษ วิชัย อริยะนันทกะ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง, ศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง จากกระทรวงยุติธรรม, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, สำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักงานอัยการสูงสุด, สำนักงานาคณะกรรมการกฤษฎีกา, สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย(องค์การมหาชน) และสภาทนายความ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า คณะทำงานชุดนี้เป็นคณะกรรมการระดับชาติ ถือเป็นโอกาสที่ดีของการนำศักยภาพมาประกอบกับหลักกฎหมายและหลักวิชาการที่แต่ละท่านมีความเชี่ยวชาญ เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่มีประเทศใดสามารถอยู่ได้โดยลำพัง เพราะทุกประเทศต้องมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีวาระการพิจาณาที่สำคัญของอนุกรรมการ 3 ชุด ประกอบด้วย

1.คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุสัญญาว่าด้วยการยกเลิกข้อกำหนดของการนิติกรณ์สำหรับเอกสารมหาชนจากต่างประเทศ หรือ Apostille Convention

2.คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการส่งเอกสารทางการศาลระหว่างประเทศไทยในคดีแพ่งและพาณิชย์ หรือ Service Convention

3.คณะอนุกรรมการแนวทางการปรับปรุงพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481

สำหรับความคืบหน้าจากคณะอนุกรรมการทั้ง 3 คณะ ซึ่งได้รายงานต่อที่ประชุม โดยในเรื่องแรก สืบเนื่องจากปัจจุบันคนไทยนับล้านคนอยู่ในต่างประเทศ ทั้งเพื่อการทำงาน หรือสมรส บ่อยครั้งที่ต้องติดต่อราชการในประเทศที่พำนักอยู่ ต้องใช้เอกสารราชการจากทางการไทย เช่น สูติบัตร, ใบมรณบัตร, ทะเบียนสมรส เพื่อนำไปยื่นติดต่อราชการในต่างประเทศ ปรากฏว่าการจะใช้เอกสารเหล่านั้นได้ ต้องได้รับการรับรอง (เรียกว่ารับรองนิติกรณ์เอกสาร) จากทางการไทย

แม้การออกเอกสารต่างๆ จากหน่วยงานรัฐในประเทศไทยจะมีความรวดเร็ว แต่ประชาชนที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องเดินทางมายังกรมการกงสุล กระทรวงต่างประเทศ จึงไม่เกิดความสะดวก หากประชาชนรายนั้นมีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ เช่น อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม เมื่อได้รับเอกสารจากที่ว่าการอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยแล้ว ยังต้องเดินทางไปที่กรมการกงสุล ซึ่งตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะอีก

ฉะนั้นคณะอนุกรรมการ จึงพิจารณาแนวทางบรรเทาปัญหาในส่วนนี้ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ กรมการกงสุลจะสามารถมอบอำนาจการรับรองเอกสารด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Apostille Convention จากที่ว่าการอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย แล้วนำไปใช้ในต่างประเทศได้ทันที ทำให้การบริการแบบ One Stop Service มีความสะดวก รวดเร็ว เกิดประโยชน์กับประชาชนนับล้านที่ต้องการใช้เอกสารราชการในการติดต่อกับต่างประเทศ

เรื่องที่สอง การพิจารณาแนวทางการส่งเอกสารในคดีแพ่งและพาณิชย์ไปต่างประเทศ ทั้งหมายศาล สำเนาคำฟ้องจากศาลของประเทศไทยไปยังศาลของ 125 ประเทศที่อยู่ภายใต้อนุสัญญากรุงเฮกฯ โดยคาดหวังให้การส่งเอกสารในคดีแพ่งและพาณิชย์ ไม่ต้องส่งโดยวิถีทางการทูตที่ต้องใช้เวลานาน ซึ่งแต่เดิมเอกสารเหล่านี้จำเป็นต้องส่งไปยังกระทรวงการต่างประเทศและสถานทูตเท่านั้น

เบื้องต้น ได้พิจารณาแนวทางแล้วเสร็จ โดยในอนาคตเอกสารต่างๆ จะสามารถส่งได้โดยตรงจากศาลไทยไปยังอีกศาลของต่างประเทศ โดยผลการพิจารณาแนวทาง Service Convention ต่อคณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อพิจารณาแนวทางการปรับปรุงพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2481 ก่อนนำเข้าคณะรัฐมนตรีต่อไป

ฉะนั้น ในที่ประชุมจึงเห็นควรยุบ คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการส่งเอกสารทางการศาลระหว่างประเทศไทยในคดีแพ่งและพาณิชย์ หรือ Service Convention แล้วมีมติแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการปรับปรุง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย ปี พ.ศ.2481 แทน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการหารือถึงการศึกษาในประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโทเคนดิจิทัล และธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศของผู้ถือโทเคน และการโอนทรัพย์สินดิจิทัล จากการประชุม Council on General Affairs and Policy (CGAP) ประจำปี ค.ศ. 2024 ของที่ประชุมเดียวกัน (ที่ประชุมกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ แผนคดีบุคคล)

และการเข้าร่วมในที่ประชุมประจำปีขององค์การที่ปรึกษากฎหมายแห่งเอเชียและแอฟริกา (Asian – African Legal Consultative Organization – AALCO) สมัยที่ 62 ที่รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพ ในช่วงกลางเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้