กพร.เร่งงานรับนโยบาย รมว.พิพัฒน์ ตั้งศูนย์ทดสอบฯ ผู้บังคับรถปั้นจั่นเขตภาคเหนือ รองรับค่าจ้างตามฝีมือ

Uncategorized

กพร.เร่งงานรับนโยบาย รมว.พิพัฒน์ ตั้งศูนย์ทดสอบฯ ผู้บังคับรถปั้นจั่นเขตภาคเหนือ รองรับค่าจ้างตามฝีมือ

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งขับเคลื่อนงานรับนโยบายรมว.แรงงาน “พิพัฒน์” ตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขา ผู้บังคับปั้นจั่น เขตภาคเหนือ นำร่องที่ลำปาง Up-Skill แรงงาน รองรับอัตราค่าจ้างตามฝีมือ

นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งดำเนินการส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับการจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ล่าสุดมอบหมายให้นายสุทธิพงษ์ โกศลวิริยะกิจ รองอธิบดี ลงพื้นที่จังหวัดลำปาง ร่วมประชุมกับคณะผู้บริหาร บริษัท สหกลอิควิปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับพนักงาน ในการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน พร้อมมอบป้ายและใบอนุญาตให้แก่บริษัท ที่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน จำนวน 2 สาขา ได้แก่ สาขาผู้บังคับรถปั้นจั่นล้อยาง ระดับ 1 และสาขาผู้บังคับปั่นจั่นติดรถบรรทุก ระดับ 1 หลังจากนั้นได้ตรวจเยี่ยม และให้กำลังใจผู้เข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน

ด้านนายสุทธิพงษ์ โกศลวิริยะกิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นบริษัทแรกที่ได้รับอนุญาตให้เป็นศูนย์ทดสอบใน 2 สาขาในเขตภาคเหนือ ซึ่งสาขาผู้บังคับรถปั้นจั่นล้อยาง ระดับ 1 และสาขาผู้บังคับปั้นจั่นติดรถบรรทุก ระดับ 1 เป็นศูนย์ทดสอบแห่งเดียวในประเทศ โดยบริษัท สหกลอิควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทหลักในการทำธุรกิจด้านการให้บริการและดำเนินงานเหมืองแร่อย่างครบวงจร ซึ่งครอบคลุมถึงการวางแผนงานเหมือง การปฎิบัติงานเปิดหน้าเหมือง การให้คำปรึกษาด้านงานเหมือง และการให้เช่าและซ่อมบำรุงเครื่องจักรขนาดใหญ่ อีกทั้งในธุรกิจเหมืองแร่ บริษัทยังช่วยซัพพอตการขนย้ายเครื่องจักรกับทางหน้างานในส่วนของการ Relocate หน้างาน ซึ่งพนักงานของบริษัทที่อบรมปั่นจั่นสาขาล้อยาง และปั่นจั่นติดรถบรรทุก จะมีรายได้เฉลี่ยรวมต่อเดือน เดือนละ 18,000 – 25,000 บาท โดยประมาณเลยทีเดียว ดังนั้นบริษัทจึงมีความพร้อมที่จะให้บริการการทดสอบทักษะฝีมือในด้านดังกล่าว ซึ่งคนที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานแล้ว บริษัทพิจารณาการปรับค่าจ้างให้อีกด้วย จากที่สอบถามก็พบว่าแรงงานได้รับค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัด ซึ่งจังหวัดลำปางมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 340 บาท ซึ่งในอนาคตกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะผลักดันให้มีการกำหนดอัตราค่าจ้างตามฝีมือใน 2 สาขานี้ด้วย เพราะเป็นสาขาที่มีความต้องการจ้างงานสูงและต้องใช้ทักษะฝีมือ ผู้ที่มีทักษะได้มาตรฐาน จึงควรได้รับค่าจ้างอย่างเหมาะสม