อุดรธานี – บสย. กรมราชทัณฑ์ มูลนิธิ ณภาฯ กอช. จับมือ “สร้างชีวิตใหม่” ผู้ต้องขัง สร้างโอกาส กลุ่มเปราะบาง กลับสู่สังคม

Uncategorized

อุดรธานี 7 มิ.ย.67

อุดรธานี – บสย. กรมราชทัณฑ์ มูลนิธิ ณภาฯ กอช. จับมือ “สร้างชีวิตใหม่” ผู้ต้องขัง สร้างโอกาส กลุ่มเปราะบาง กลับสู่สังคม

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บสย.อุดรธานี เปิดเผยว่า ที่ กรมราชทัณฑ์ ได้มีพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการ สร้างชีวิตใหม่ เพื่อผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษ เพื่อร่วมมือดำเนินกิจกรรมร่วมกันอย่างเป็นระบบ โดย นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายณัฎฐพล พิศิษฐวานิช กรรมการบริหาร มูลนิธิ ณภาฯ ในพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการ สร้างชีวิตใหม่ เพื่อผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษ

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อร่วมมือดำเนินกิจกรรมร่วมกันอย่างเป็นระบบมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษให้เข้าถึงโอกาสในการประกอบอาชีพหลังพ้นโทษ และเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ เข้าถึงระบบการออมเงินจากภาครัฐเพื่อสร้างความมั่นคงในยามชราภาพ ยกระดับคุณภาพของผู้ต้องขังเรื่องการฝึกอาชีพของกรมราชทัณฑ์ โดยร่วมกันพัฒนาพฤตินิสัยและเพิ่มศักยภาพด้านฝีมือให้กับผู้ต้องขังก่อนพ้นโทษ โดยจะร่วมกันส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการให้โอกาส

ด้าน นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า บสย.เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง ช่วย “ค้ำประกันสินเชื่อ” ให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบมากกว่า 8 แสนราย ยังมี SMEs อีกกว่า 3 ล้านรายที่ต้องการ รวมถึงกลุ่มผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ และกลับคืนสู่สังคม ที่ต้องการเริ่มธุรกิจในอนาคตด้วยโครงการ สร้างชีวิตใหม่ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่บสย. ริเริ่มขึ้น โดยใช้ความสามารถพิเศษขององค์กร ด้านการค้ำประกันสินเชื่อ และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการเงินอย่างยั่งยืน ตามแนวคิด “เติมทุน เติมความรู้ เติมคุณภาพชีวิต” เพื่อช่วยเหลือ และส่งเสริมกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่มเปราะบาง

โครงการ สร้างชีวิตใหม่ ดำเนินการต่อเนื่อง 5 ปี ช่วยผู้ต้องขังมอบโอกาสความรู้ทางการเงิน การเริ่มต้นในการประกอบอาชีพ รวมกว่า 3,100 ราย โดยปีนี้ได้จัดอบรมในเรือนจำและทัณฑสถาน รวมทั้งสิ้น 12 แห่ง มีผู้ต้องขังเข้าอบรมรวมกว่า 1,200 คน ร่วมโครงการ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินธุรกิจ

////////////////////

พฤตินัย มั่งสวัสดิ์ / ณัยน์ปพร มั่งสวัสดิ์ รายงาน