สำนักงานเกษตรอำเภอเชียงกลาง เตือนภัย!!!!
เกษตรชาวสวนลำไย เฝ้าระวัง!!! โรคและแมลงศัตรูลำไยที่จะเข้าทำลายในระยะติดผล
โดยมีโรคและแมลงศัตรูพืชลำไย ที่ต้องเฝ้าระวัง ดังนี้
1. โรคราดำ (Sooty mold)
ลักษณะอาการ : ลักษณะเป็นคราบสีดำเกาะอยู่ที่ผลและช่อผล ทำให้ผลผลิตไม่สามารถจำหน่ายได้ เนื่องจากสีผิวสกปรก เป็นที่ไม่พึ่งประสงค์ของผู้บริโภค
การป้องกันกำจัด :
1. ป้องกันกำจัดมด ซึ่งเป็นตัวการสำคัญของการแพร่ระบาดของราดำ จากการนำเพลี้ยแป้งและเพลี้ยหอยข้าวตอก ซึ่งถ่ายมูลน้ำหวานเป็นอาหารของราดำ โดยฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง เช่น คาร์บาริล (85% WP) อัตรา 30 – 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
2.ควรมีการผสมสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราในการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดมดในแต่ละครั้ง เช่น แมนโคเซบ (80% WP) อัตรา 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อป้องกันกำจัดราดำ
2. โรคราน้ำฝน (Phytophthora fruit rot)
ลักษณะอาการ : มักพบก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 1 เดือน ช่วงฝนตกชุกติดต่อกัน ผลลำไยที่เป็นโรคจะเน่าและพบเชื้อราสีขาวฟูบนผิวผล ทำให้ผลร่วง ส่วนผลลำไยที่ยังไม่แก่เต็มที่ เมื่อเป็นโรคจะมีอาการผลแตก ในสวนที่เป็นโรครุนแรง พบว่าผลเน่าทั้งสวน
การป้องกันกำจัด :
1. หมั่นตรวจแปลงสม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงฝนตกชุก หากพบโรคให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชทันที เช่น เมทาแลกซิล (25% WP) อัตรา 50 – 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม (80% WP ) อัตรา 80 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ+เมทาแลกซิล-เอ็ม (68% WG) อัตรา 30 – 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 5- 7 วันโดยพ่นให้ทั่วทั้งต้น และควรหยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างน้อย 15 วัน
2. เก็บผลที่เป็นโรคที่ร่วงลงบนพื้นดิน นำไปเผาทำลายนอกแปลง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดภายในสวน
3. หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี และแสงแดดส่องถึง
3. หนอนเจาะผล (Fruit borer)
ลักษณะการทำลาย : ตัวหนอนจะเจาะเข้าทำลายผลอ่อนลำไย แล้วกัดกินเนื้อในผลรวมถึงเมล็ด เหลือแต่เปลือกแล้วเข้าดักแด้อยู่ภายในผลที่ถูกเจาะจะกลวงและแห้งติดอยู่กับช่อผลจะพบรูหนอนเจาะ โดยหนอนจะหลบและซ่อนตัวอยู่ในโพรงผลที่เจาะหันหัวเข้าด้านในแล้วหันส่านปลายก้นปิดรูเจาะเพื่อหลบแสง
การป้องกันกำจัด
1. สำรวจการเข้าทำลายของหนอนเจาะผล อย่างสม่ำเสมอช่วงระยะติดผลอ่อน
2. หากพบการเข้าทำลายของหนอนเจาะผล ให้ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง เช่น คาร์โบซันแฟน (20% EC) อัตรา 20 – 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อีมาเมกตินเบนโซเอต (5% SG) อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
4. มวนลำไย (Longan stink bug)
ลักษณะการทำลาย : พบทำลายลำไยทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย โดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากช่อผลอ่อน ทำให้ผลมีรอยช้ำเป็นจุดสีดำ
การป้องกันกำจัด :
1. วิธีกล โดยการจับตัวเต็มวัย ตัวอ่อน และไข่ ในช่วงฤดูผสมพันธุ์และวางไข่ ในเดือนมกราคม-มีนาคม นำไปกำลาย หรือในบางพื้นที่นิยมนำตัวเต็มวัยมาประกอบอาหาร
2. ตัดแต่งกิ่งลำไยให้มีทรงพุ่มโปร่ง เพื่อไม่ให้เป็นที่หลบอาศัยของตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของมวนลำไย
3. ฉีดผ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแบลง เช่น คาร์บาริล (85% WP) อัตรา 40 – 60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน (2.5% EC) อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ช่วงที่พบการระบาดและร่วงหล่นในที่สุด
5. เพลี้ยแป้ง (Mealy bugs)
ลักษณะการทำลาย : เพลี้ยแป้งลำไยจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงที่ผลและก้านช่อผล แล้วถ่ายมูลน้ำหวานออกมาซึ่งเป็นแหล่งอาหารของราดำ ทำให้เกิดโรคราดำ โดยมีมดเป็นพาหะช่วยเคลื่อนย้ายเพลี้ยแป้งและทำให้เกิดการระบาดรุนแรงมากขึ้น ผลผลิตที่พบเพลี้ยแป้งทำลายจะไม่ได้คุณภาพ ไม่สามารถจำหน่ายเป็นผลสด และ
อาจถูกระงับการส่งออกได้
การป้องกันกำจัด :
1. ใช้วิธีกลโดยตัดส่วนที่พบเพลี้ยแป้งนำไปเผาทำลายนอกแปลง และควรกำจัดวัชพืชในสวนที่เป็นพืชอาศัยของเพลี้ยแป้ง
2. หากพบการระบาดรุนแรงควรใช้สารเคมีป้องกำจัดแมลง เช่น ไทอะมีทอกแซม (25% WG) อัตรา 2.5 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไดโนทีฟูแรน (10% WP) อัตรา 10 กรัม หรือมาลาไทออน (57% EC) +ปีโตรเลียมออยล์ (83.9% EC) อัตรา 40 มิลลิลิตร อย่างใดอย่างหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยเว้นระยะห่างกัน 7 วัน
3. ป้องกันกำจัดมด ซึ่งเป็นพาหะนำเพลี้ยแป้งแพร่ระบาดสู่ต้นอื่น โดยฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง เช่น คาร์บาริล (85% WP) อัตรา 30-50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ร่วมกับการใช้ผ้าชุบน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้ว หรือชุบสารกำจัดแมลง เช่น คาร์บาริล (85% WP ) อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พันไว้ที่โคนต้นและวัสดุค้ำยันต่าง ๆ เพื่อป้องกันมดใช้เป็นเส้นทางสัญจรนำเพลี้ยแป้งแพร่ระบาดสู่ต้นอื่น
การดูแลรักษา
1.ระยะติดผล-ผลแก่ ให้น้ำ อัตรา 250 -350 ลิตร/ต้น สัปดาห์ละ 2 ครั้ง
2.เมื่อติดผล ใส่ปุ๋ยเคมี เช่น 15-15-15 ผสม 46-0–0 สัดส่วน 1 : 1 อัตรา 1 – 2 กก./ต้น
3.ก่อนเก็บเกี่ยว 30 วัน ใส่ปุ๋ยเคมี 0–0-60 หรือ 13-13-21 อัตรา 1-2 กก./ต้น
การเก็บเกี่ยว
เก็บเกี่ยวประมาณ 22 สัปดาห์ หลังติดผล ข้อสังเกต คือ เปลือกผล สีน้ำตาลอ่อน เรียบ เกือบไม่มีกระ
เน้นย้ำ!!!…เกษตรกรไม่ควรเก็บเกี่ยวก่อนกำหนด ทำให้ไม่ได้คุณภาพ อาจส่งผลให้โดนกดราคาได้
อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่
สำนักงานเกษตรอำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน