อุดรธานี 5 มิ.ย.67
อุดรธานี – ประสบการณ์ 33 ปี ดัน SMEs เข้าถึงสินเชื่อ กว่า 8 แสนราย บสย.รุกเป็น “ตัวกลาง” ช่วยกลุ่มรายย่อย อาชีพอิสระ มุ่งสู่ Digital Platform
บสย. ย้ำการช่วยเหลือ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านกลไกค้ำประกันสินเชื่อ ชูบทบาท “ตัวกลาง” เชื่อมผู้ประกอบการและสถาบันการเงิน รุกช่วยกลุ่มรายย่อย อาชีพอิสระ ผ่านศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงินของ บสย. พร้อมมุ่งสู่ Digital Platform ยกระดับบริการเข้าถึง SMEs ทุกกลุ่มทั่วประเทศ
วันที่ 5 มิ.ย.67 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บสย.อุดรธานี เปิดเผยว่า งานเสวนา “กลไกค้ำประกันเครดิต ตัวช่วยของ SMEs ในการเข้าถึงเงินทุน” จัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ผ่านมานั้น นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้เข้าร่วมในงานเสวนา “กลไกค้ำประกันเครดิต ตัวช่วยของ SMEs ในการเข้าถึงเงินทุน” จัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย มี นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย, นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ดำเนินรายการโดย ดร.ณชา อนันต์โชติกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวในงานเสวนาว่า 33 ปี ที่ผ่านมา บสย. ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ผ่านกลไกค้ำประกันมากกว่า 8 แสนราย ลูกค้ากว่า 50% หรือกว่า 4 แสนราย เกิดขึ้นหลังสถานการณ์โควิด SMEs จำนวนมากขาดสภาพคล่อง ทำให้ บสย. ต้องปรับเปลี่ยนองค์กรขนานใหญ่ จนนำไปสู่ Digital Transformation โดยนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาพัฒนาและเชื่อมโยงการดำเนินงาน เพื่อสามารถเข้าถึงผู้ประกอบการ SMEs ได้ทุกกลุ่ม และทำให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงบริการของ บสย. ได้มากขึ้นเช่นกัน
บสย. ได้วางบทบาทเป็น Credit Mediator เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุน การให้บริการผ่านช่องทาง Digital Platform ล่าสุด บสย. ได้เปิดบริการใหม่ผ่าน LINE OA @tcgfirst เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงบริการ บสย. ได้ง่ายขึ้น รวมถึงเพิ่มบริการนัดหมาย “หมอหนี้ บสย.” ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้ามาจองคิวขอคำปรึกษาผ่านบริการ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าถึง 70% ของ บสย. คือกลุ่ม Micro SMEs หรือผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า กลุ่มอาชีพอิสระ ในการเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ในการเป็น “ตัวกลาง” เชื่อมระหว่างผู้ประกอบการ SMEs และสถาบันการเงิน ด้วยเป้าหมายหลักของ บสย. ที่มุ่งเน้นจำนวนรายของ SMEs หนึ่งในหัวใจหลักคือ การทบทวน แก้ไข พ.ร.บ. บสย. เพื่อเพิ่มบทบาทการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น การปรับโมเดลสำนักงานเขตทั่วประเทศ (Branch Reformat) สู่การเป็นศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs โดยใช้ TCG Learning Center เป็นโมเดลต้นแบบในการพัฒนา ซึ่งปัจจุบันได้นำร่องที่สำนักงานเขตภาคตะวันออก และ สำนักงานเขตภาคกลาง โดยเปิดให้ผู้ประกอบการสามารถเข้ามาขอคำปรึกษาเรื่องการเงิน การขอสินเชื่อ รวมถึงการให้คำปรึกษาด้านการแก้หนี้ ปัจจุบันมี SMEs มารับคำปรึกษาและรับการอบรมผ่านศูนย์ฯ มากกว่า 17,000 ราย
เป้าหมายหลักของ บสย. จากนี้ คือ การเดินหน้าให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ปัจจุบัน บสย. ได้ช่วยเหลือ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนแล้วมากกว่า 8 แสนราย แต่ด้วยผู้ประกอบการ SMEs ในระบบที่มีกว่า 3.2 ล้านราย จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายของ บสย. ในการปรับเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ไทยได้มากขึ้น
////////////////////
พฤตินัย มั่งสวัสดิ์ / ณัยน์ปพร มั่งสวัสดิ์ รายงาน