อธิบดีบุปผา นั่งหัวโต๊ะถกสมาคม-เอกชน ผลิตแรงงานรับท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกลุ่มประเทศ GCC

Uncategorized

อธิบดีบุปผา นั่งหัวโต๊ะถกสมาคม-เอกชน ผลิตแรงงานรับท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกลุ่มประเทศ GCC

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หารือร่วมผู้ประกอบการ สมาคม เอกชน ผลิตแรงงานท่องเที่ยวรับกลุ่มประเทศอาหรับและมุสลิม เป้าหมาย 10,000 คน นำร่อง 11 จังหวัดทั่วไทย

นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council) หรือกลุ่มประเทศ GCC มีสมาชิก 6 ประเทศ ประกอบด้วย ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน ได้เปิดวีซ่าท่องเที่ยวระยะสั้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยวใน GCC ซึ่งประเทศไทยมีความเข้มแข็งทางการค้าในกลุ่มนี้ ได้แก่ การท่องเที่ยว ร้านอาหาร สปาเพื่อสุขภาพ โรงพยาบาล และการบริการด้านการออกแบบก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างงานสร้างรายได้ให้กับบริษัทจากไทย โดยกำลังต้องการแรงงานที่มีทักษะฝีมือจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังพบว่าไทยเป็นทางเลือกของนักท่องเที่ยวตะวันออกกลางที่พร้อมจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวช่วงฤดูฝน ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวและการหมุนเวียนเม็ดเงินในไทยสูงกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานซึ่งเป็นหน่วยขับเคลื่อนด้านแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีแนวทางการยกระดับทักษะแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานกลุ่ม GCC จึงมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานบูรณาการร่วมกับภาคเอกชนและสมาคมต่างๆ ยกระดับทักษะแรงงานโดยด่วน

นางสาวบุปผา กล่าวต่อไปว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้หารือตรียมความพร้อมรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของนักท่องเที่ยวจากกลุ่ม GCC รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มมุสลิมด้วย การให้บริการนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวมีลักษณะต่างจากนักท่องเที่ยวทั่วไป จึงจำเป็นต้องหารือกับผู้ประกอบการ กลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และสมาคมต่างๆ เพื่อกำหนดหลักสูตรการฝึกอบรมให้สอดคล้องกับตำแหน่งงานที่ขาดแคลน ผลิตแรงงานรับท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกลุ่ม GCC และมุสลิม เป้าหมาย 10,000 คน จำแนกหลักสูตรออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. Spa & Wellness 2. อาหารฮาลาลและงานด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับฮาลาล 3. ภาษาต่างประเทศ (อังกฤษ อาหรับ และมาลายู) 4. การบริหารจัดการ อาทิ การบริหารจัดการธุรกิจนวดสปา มาตรฐานการบริหารธุรกิจที่พักแบบวิถีใหม่ นอกจากนี้ ตัวแทนผู้ประกอบการและสมาคม เสนอให้เชิญหน่วยงานอื่น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคการศึกษาที่เกี่ยวข้องและมีความเชี่ยวชาญ เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการพัฒนาแรงงานร่วมกัน เพื่อให้สามารถดำเนินการอย่างครบวงจร ซึ่งกลุ่มเป้าหมายมีทั้งแรงงานใหม่และแรงงานที่อยู่ในสถานประกอบการ ทั้งนี้ จะนำร่องฝึกอบรมในแหล่งท่องเที่ยว 11 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น(หรืออุดร) ชลบุรี กระบี่ พังงา ภูเก็ต สงขลา ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส

“แรงงานไทยควรพัฒนาศักยภาพของตนให้มากขึ้นตลอดเวลา การเรียนรู้ การปรับตัว และการเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความอยู่รอดของแรงงานและเศรษฐกิจของไทย” อธิบดีบุปผา กล่าวทิ้งท้าย